วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมหม้อแกงถั่ว ขนมหม้อแกงเผือก

ขนมหม้อแกง เป็นขนมไทยโบราณ ที่ในสมัยโบราณทำกันเฉพาะในวังหรือที่เรียกว่าขนมชาววังเท่านั้น ต่อมาได้มีการนำสูตรออกมาเผยแพร่และกลายเป็นขนมมีชื่อของจังหวัดเพชรบุรี มีหลายสูตรให้เลือกรับประทานเช่น ขนมหม้อแกงถั่ว ขนมหม้อแกงเผือก ขนมหม้อแกงไข่


*ส่วนผสมขนมหม้อแกงถั่วและขนมหม้อแกงเผือก
ไข่ไก่  3 ฟอง
ถั่วเขียว  250 กรัม หรือจะใช้เผือก แทนก็ได้
หัวกะทิ  1 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า  4 ถ้วยตวง
น้ำตาลปี๊บ  250 กรัม
เกลือป่า  1/4 ช้อนชา
ใบเตย  3 ใบ
หอมแดงซอยละเอียด 3 หัว

*วิธีทำขนมหม้อแกงถั่วและขนมหม้อแกงเผือก
นำหอมแดงซอยไปเจียวในน้ำมันด้วยไฟอ่อนๆจนเหลืองและกรอบ
นำถั่วเขียวไปแช่ในน้ำเปล่าสัก 2 ชั่วโมง ลอกเปลือกสีเขียวออกให้หมดแล้วนำไปนึ่ง ถ้าเป็นเผือกนำไปปอกเปลือกแล้วนำไปนึ่งจนสุก แล้วนำไปยีให้ละเอียด
ผสมไข่ น้ำตาลปี๊บ และเกลือ เข้าด้วยกัน จากนั้นใส่ใบเตยลงไปขยำให้เข้ากัน ใส่น้ำกะทิลงไป ขยำจนเข้ากันดี นำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง
นำถั่วหรือเผือกที่เตรียมไว้ใส่ลงไปเพิ่มความหอดด้วยการใส่น้ำมันที่เจียวหอมแดง 2ช้อนโต๊ะ กวนทั้งหมดให้เข้ากัน
นำทั้งหมดไปกวนในกระทะทองเหลือง จนส่วนผสมมีลักษณะข้น นำส่วนผสมที่ได้ไปใส่ภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อที่เราจะนำไปอบต่อที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส อบทิ้งไว้ 30 นาที จากนั้นนำหอมแดงที่เจียวไว้ไปโรยหน้าขนมหม้อแกง แล้วนำไปอบต่ออีก 5 นาที เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อยค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมเปียกปูน

ขนมเปียกปูน เป็นขนมไทยโบราณอีกชนิดหนึ่งที่ยังพอหาทานได้ในปัจจุบัน ขนมจะมีลักษณะนิ่มๆมีมะพร้าวขูดฝอยโรยหน้า สีขนมจะเป็นสีดำซึ่งคนในสมัยโบราณใช้ภูมิปัญญาในการหาสีดำจากธรรมชาติโดยใช้กาบมะพร้าวเผา แต่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงสูตร จากขนมเปียกปูนสีดำมาเป็นมีสีเขียวโดยใช้น้ำ
ใบเตยเป็นส่วนผสมแทนกาบมะพร้าวเผา วันนี้เราได้นำสูตรทำขนมเปียกปูนมาฝาก 2 สูตรด้วยกันนะคะ


*ส่วนผสมขนมเปียกปูนมีดังนี้ค่ะ
แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วยตวง
แป้งเท้ายายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลมะพร้าว 400 กรัม
น้ำกาบมะพร้าวเผา 3/4 ถ้วยตวง (นำกาบมะพร้าวไปเผาไฟพอไหม้นิดหน่อยนำไปจุ่มในน้ำสะอาด ทิ้งให้แห้งแล้วนำไปโขลกให้ละเอียด นำไปร่อนให้ได้ผง
ละเอียดแล้วผสมกับน้ำ)
น้ำกะทิ 1 ถ้วยตวง
น้ำปูนใส 4 ถ้วยตวง
เนื้อมะพร้าวขูดฝอย 1 1/2 ถ้วย (คลุกเกลือนิดหน่อย ไว้สำหรับโรยหน้า)
     
*วิธีทำขนมเปียกปูน
นำแป้งข้าวเจ้า, แป้งเท้ายายม่อม, น้ำปูนใส, น้ำกะทิ, น้ำกาบมะพร้าว และ น้ำตาลมะพร้าว มาผสมกัน คนจนทุกอย่างละลายเข้ากันดีแล้วนำไปกรองด้วย
ผ้าขาวบาง หลังจากนั้นนำส่วนผสมที่ได้ใส่ลงในกระทะทองเหลือง นำไปกวนโดยใช้ไฟแรง กวนจนแป้งเหนียวจับตัวเป็นก้อน ค่อยๆลดไฟลงกวนต่อจน
แป้งข้นและเหนียวกว่าเดิม จากนั้นเทใส่ถาดหรือภาชนะที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้หน้าเรียบเสมอกัน เวลาเสริฟตัดขนมเป็นชิ้นตามต้องการและโรยหน้าขนม
ด้วยมะพร้าวขูดฝอย


*ส่วนผสมขนมเปียกปูนใบเตย
 แป้งข้าวเจ้าชนิดผง   2  1/2  ถ้วยตวง
 แป้งท้าวยายม่อม  1/2    ถ้วยตวง
 แป้งถั่ว   1/4    ถ้วยตวง
 น้ำตาลทราย   3  ถ้วยตวง
 น้ำปูนใส   4  ถ้วยตวง
 หัวกะทิ   1  1/2   ถ้วยตวง
 น้ำใบเตยข้น ๆ   1/2   ถ้วยตวง
 เนื้อมะพร้าวขูดฝอย  1 1/2  ถ้วย (คลุกเกลือนิดหน่อย สำหรับโรยหน้า)

*วิธีทำขนมเปียกปูนใบเตย
นำแป้งข้าวเจ้า, แป้งท้าวยายม่อม, แป้งถั่วเขียว มาผสมรวมกับหัวกะทิ น้ำใบเตย คนเข้ากันดีใส่ใส่น้ำปูนใสลงไป กรองด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นนำไปใส่ในกระทะทองเหลือง กวนจนแป้งเหนียวข้น จากนั้นเทใส่ถาดหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ปาดหน้าขนมให้เรียบเสมอกัน รอให้เย็นตักเป็นชิ้นตามต้องการก่อนเสริฟโรยหน้าขนมด้วยมะพร้าวขูดฝอย


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมลูกชุบ

ขนมลูกชุบ เป็นขนมไทยโบราณ ทำจากถั่วเขียวที่ลอกเปลือกแล้ว นำมาบดมากวนแล้วปั้นเป็นรูปผลไม้เล็กๆโดยมีการนำสีมาระบายให้เหมือนผลไม้จริง และตกแต่งด้วยใบไม้ กิ่งไม้เล็กๆ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของคนทำค่ะ ขนมไทยๆในสมัยโบราณจะเน้นการประดิษประดอยสวยงาม นิยมนำไปมอบในงานมงคลต่างๆ เช่นขึ้นบ้านใหม่ ให้เนื่องในวันปีใหม่ ค่ะ


*ส่วนผสมขนมลูกชุบมีดังนี้
ถั่วเขียว  450  กรัม
น้ำกะทิ  400  กรัม
น้ำตาลทราย  200  กรัม 
*วุ้นสำหรับเคลือบขนมลูกชุบ(ปั้นขนมเสร็จแล้วต้องจุ่มลงไปในวุ้น)
วุ้นผง  3  ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง (สำหรับทำน้ำวุ้น)
สีสำหรับระบายขนม เช่น สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน หรือใช้สีผสมอาหารก็ได้
พู่กันและจานสี
ไม้จิ้มฟัน
ฟองน้ำแข็งๆ หรือโฟม สำหรับเสียบลูกชุบเพื่อรอให้วุ้นแห้ง

*ขั้นตอนการทำขนมลูกชุบมีดังนี้
นำถั่วเขียวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าอยากลดเวลาให้แช่ในน้ำร้อนค่ะ ลอกเปลือกสีเขียวออกให้หมด นำถั่วที่เหลือแต่สีเหลืองไปนึ่งให้สุก ประมาณ 15-20 นาที เมื่อถั่วสุกดีแล้วนำไปบด แต่ปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรงเรานำไปใส่เครื่องปั่นไฟฟ้าก็ได้ค่ะ ปั่นถั่วละเอียดดีแล้วผสมกะทิและน้ำตาลทรายลงไป
นำส่วนผสมทั้งหมดไปกวนในกระทะทองเหลือง หรือกระทะเคลือบเทฟลอน กวนด้วยไฟอ่อนๆ ถ้าใช้ไฟแรงเกินถั่วจะไหม้ได้ กวนจนข้นและเหนียว ยกลงพักให้เย็น ถั่วกวนที่ได้ต้องแห้งพอปั้นได้
นำถั่วที่ได้มาปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้ตามใจชอบ เสร็จแล้วเสียบไม้จิ้มฟันไว้ ควรปั้นถั่วให้หมดทีเดียว ถั่วที่ปั้นเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำหมาดๆคลุมไว้
ผสมสีตามที่ต้องการ ใช้พู่กันระบายตามใจชอบ พักไว้เตรียมนำไปชุบน้ำวุ้น
ผสมน้ำเปล่า ผงวุ้น น้ำตาลทราย คนให้ละลาย นำไปตั้งบนไฟอ่อนๆรอจนส่วนผสมเดือดแล้วหรี่ไฟลง หากมีฟองต้องซ้อนฟองออก จากนั้นนำถั่วที่ปั้นและระบายสีที่เตรียมไว้มาจุ่มลงในน้ำวุ้น ชุบด้วยน้ำวุ้นสัก2-3ครั้ง นำไปเสียบโฟมที่เตียมไว้ เมื่อวุ้นแห้งดีแล้วนำออกจากไม้จิ้มฟันแล้วหาใบไม้ หรือกิ่งไม้มาตกแต่งตามชอบ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

*ขนมไทยโบราณ ขนมถ้วยฟู

ขนมถ้วยฟู เป็นขนมโบราณที่นำเข้ามาในเมืองไทยเราโดยคนจีน และเป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคลของคนไทย  ชาวจีนเรียกขนมถ้วยฟูว่า ฮวดโก้ย หมายถึง มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู จึงเป็นอีกขนมหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานมงคล ชาวจีนและชาวไทย นิยมนำไปไหว้เจ้า หรือประกอบพิธีงานมงคลต่างๆ ในงานแต่งงานนิยมทำขนมถ้วยฟูเป็นสีแดง ใช้ไหว้เจ้าหรืองานมงคลต่างๆนิยมใช้สีชมพู  ใช้ในงานอวมงคล หรือไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนิยมใช้สีขาว ในปัจจุบันยังหาทานได้ง่าย มีหลากหลายสี เช่น ชมพู เขียว ขาว ฟ้า


ส่วนผสมของขนมถ้วยฟู
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกไม้ 1/2 ถ้วยตวง
ยีสต์ 1 ช้อนชา
ผงฟู 1 ช้อนชา
ถ้วยตะไล
รังถึงสำหรับนึ่ง

วิธีทำขนมถ้วยฟู
น้ำตาลทรายมาผสมกับน้ำลอยดอกมะลิคนให้น้ำตาลละลาย
นำแป้งข้าวเจ้าและยีสต์มาผสมกันคนให้เข้ากันทั่วๆ จากนั้นค่อยๆเทน้ำดอกมะลิที่ผสมน้ำตาลแล้วลงในแป้งนวดจนแป้งนิ่ม แล้วเทน้ำใส่จนหมด ใส่ผงฟู นวดต่อไปจนเข้ากัน ปิดผาทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง  เรียงถ้วยตะไลลงในรังถึงจากนั้นนำไปนึงประมาณ 5 นาที นำขนมที่ได้ใส่ลงในถ้วยตะไลจนเต็มจากนั้นนึ่งขนมต่อจนสุกใช้เวลาประมาณ 15 นาที วิธีดูว่าแป้งข้างในสุกหรือไม่ให้ใช้ไม้เล็กๆขนาดไม้เสียบลูกชิ้นแทงเข้าไปในขนม ถ้าขนมสุกเวลาดึงไม้ออกมาจะไม่มีแป้งติดไม้ออกมาค่ะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมชั้น


*ขนมชั้น


ขนมชั้น เป็นขนมไทยโบราณ อีกชนิดหนึ่งที่ทำได้ไม่ยาก และเป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคล ในสมัยโบราณ เชื่อกันว่าต้องทำให้ได้ 9 ชั้นถึงจะดี เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าเลข 9 คือเลขมงคล หมายถึงความเจริญก้าวหน้า ขนมชั้นในสมัยโบราณ นิยมให้กันในงานเลื่อนขั้น เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง หมายถึงคนที่ได้รับจะได้ก้าวหน้าในการงานยิ่งๆขึ้นไป ในปัจจุบันยังหาทานได้ง่ายตามท้องตลาด และได้มีการ ประยุกต์รูปแบบเป็นชั้นๆในสมัยโบราณ มาทำเป็นรูปดอกไม้หลากหลายชนิด เห็นแล้วน่ารับประทานมากค่ะ

 
ส่วนผสมของขนมชั้น
แป้งมัน 2 ถ้วย (จะทำให้ขนมมีเนื้อเนียน นุ่ม หนืดๆ ใสเป็นมัน)
แป้งท้าวยายม่อม 1 ถ้วย (จะทำให้ขนมมีเนื้อเนียน เหนียว แข็งนิดๆแต่เนื้อแป้งใสสู้แป้งมันไม่ได้)
แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ (จะทำให้เนื้อขนมแข็ง และอยู่ตัว)
แป้งถั่วเขียว 2 ช้อนโต๊ะ (จะทำเนื้อขนมอยู่ตัว ไม่เหนียวมากเกินไป)
หัวกะทิ 4 ถ้วย
น้ำตาลทราย 3 ถ้วย
น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วย
ดอกอัญชัญ 20 ดอก คั้นเอาน้ำข้นๆ(ถ้าอยากได้ขนมสีม่วง) หรือ
ใบเตย 10 ใบ คั้นเอาน้ำข้นๆ(ถ้าอยากได้ขนมสีเขียว)


วิธีทำขนมชั้น
นำน้ำลอยดอกมะลิผสมกับน้ำตาลเคี่ยวบนกระทะทองเหลืองจนมีลักษณะเป็นน้ำเชื่อมคือข้นๆเหนียวๆ นำขึ้นพักไว้ จากนั้นนำแป้งทั้ง4ชนิดมารวมกันค่อยๆใส่ลงไปในกะทิทีละน้อยๆคนให้เข้ากันจนหมด ใสน้ำเชื่อมลงไปคนให้เข้ากัน เมื่อส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้ว นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง แล้วแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสีขาว ส่วนที่สองใส่น้ำดอกอัญชัญ หรือน้ำใบเตย หรือสีผสมอาหารตามชอบ
นำถาดทาน้ำมันให้ทั่วแล้วนำไปนึ่งใส่ป้งสีขาวลงไปประมาณครึ่งถ้วยหรือพอให้เป็นชั้นบางๆ นึ่งให้สุกประมาณ 5 นาที จากนั้นทำชั้นที่ 2 ใส่สีม่วงจากดอกอัญชัญ หรือสีเขียวจากใบเตย นึ่งอีก 5 นาที ทำแบบนี้สลับกันไป ส่วนชั้นบนสุดควรเป็นชันที่เป็นสีโดยใส่ให้สีเข้มกว่าชั้นอื่นๆเพื่อความสวยงามค่ะ
ทิ้งให้เย็นแล้วตัด ตกแต่ง ได้ตามชอบใจค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมเสน่ห์จันทร์

ขนมเสน่ห์จันทร์ เป็นขนมไทยโบราณ เป็น 1 ใน 9 ของขนมมงคลเหมาะให้กันในงานมงคลต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานเลื่อนขั้นยศ
ตำแหน่ง ขนมเสน่ห์จันทร์ มีความหมายถึง ความเป็นคนมีเสน่ห์ มีแต่คนรักคนหลง ผู้ใหญ่เมตตา ในปัจจุบันหาทานได้ยากมาก


 
ส่วนผสมของขนมเสน่ห์จันทร์มีดังนี้ค่ะ

ไข่ไก่(เฉพาะไข่แดง)  2  ฟอง
แป้งข้าวเจ้า  1  ถ้วย
แป้งข้าวเหนียว  1/2  ถ้วย
น้ำตาลทราย  2  ถ้วย
กระทิ  3  ถ้วย
ผงจันทร์เทศป่นนิดหน่อย
สีผสมอาหาร สีเหลือง สีส้ม สีน้ำตาล

ขั้นตอนการทำขนมเสน่ห์จันทร์

นำแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวมาร่อนก่อนตวง จากนั้นนำมาผสมกัน
นำกระทิผสมกับน้ำตาลคนให้ละลายแล้วกรองด้วยผ้าขาวบบาง นำขึ้นเตาเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆและควรใช้กระทะทองเหลือง จากนั้นใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียวกับผงจันทร์ป่นลงไป กวนให้เข้ากันจนเริ่มจับเป็นก้อน ใส่ไข่แดงลงไปแล้วรีบคนให้เข้ากัน ใส่สีผสมอาหารสีเหลือลงไปนิดหนึ่ง จากนั้นกวนต่อจนแป้งเป็นก้อนพอที่จะปั้นได้ พักให้หายร้อนแต่พออุ่น นำแป้งที่ได้มาปั้นเป็นลูกกลมๆเท่าลูกจันทร์ นำแป้งบางส่วนใส่สีผสมอาหารสีน้ำตาลเพื่อทำเป็นขั้วของลูกจันทร์ ตกแต่งด้วยใบและก้านของลูกจันทร์ถ้ามี เท่านี้ก็ได้ขนมเสน่ห์จันทร์สวยๆ อร่อยๆ มาทานกันนะคะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

*ขนมไทยโบราณ ขนมทองเอก

ขนมทองเอก เป็นขนมไทยโบราณ เป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคลตระกลูทองซึ่งมีความหมายแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว รักเดียวใจเดียว หรือความเป็นที่สุด เหมาะสำหรับให้กันในงานมงคลต่างๆ



ในสมัยโบราณการทำขนมทองเอกจะมีการนำทองคำเปลวมาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆเพื่อมาประดับไว้บนขนม แต่ปัจจุบันไม่นิยมนำทองคำเปลวมาประดับบนขนมเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ส่วนผสมขนมทองเอกมีดังนี้
ไข่เป็ด(เฉพาะไข่แดง) 5 ฟอง
ไข่ไก่(เฉพาะไข่แดง)   5 ฟอง
แป้งสาลี  1  ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย  1  ถ้วยตวง
หัวกะทิ  1  1/4   ถ้วยตวง

 วิธีทำขนมทองเอก
นำไข่แดงใส่ภาชนะที่ปิดผาไว้อย่าให้โดนลม จากนั้นนำหัวกะทิ น้ำตาลทราย ใส่ในกระทะทองเหลือง นำขึ้นตั้งบนไฟอ่อนๆเคี่ยวจนมีลักษณะข้นๆจึงยกลงจากเตา นำไข่แดงลงมาผสมคนกันเร็วๆ ให้เข้ากันจากนั้นนำแป้งสาลีที่เตรียมไว้ใส่ลงไปคนให้เข้ากัน แล้วยกขึ้นกวนต่อด้วยไฟอ่อนๆจนไข่สุก และแป้งไม่ติดกระทะ จากนั้นยกลงพักให้เย็นสักครู่ นำขนมมาแบ่งเป็นก้อนกลมๆให้ได้ขนาดพอดีกับแบบพิมพ์ กดขนมในแบบพิมพ์แล้วเคาะออกเรียงใส่ภาชนะ พร้อมเสริฟ
 

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมเม็ดขนุน

ขนมเม็ดขนุน เป็น ขนมไทยโบราณ  1 ใน 9 ของขนมมงคล มอบให้แก่กันในวันมงคลต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ งานขึ้นบ้านใหม่ งานเลื่อนยศตำแหน่ง เพราะ ขนมเม็ดขนุน มีความหมายถึงจะทำอะไรก็มีคนคอยค้ำจุน สนับสนุน ให้เจริญก้าวหน้า


 ส่วนประกอบมีดังนี้ค่ะ
ไข่เป็ด( เฉพาะไข่แดง ) 5 ฟอง
ถั่วเขียว 450 กรัม ( นำไปแช่น้ำประมาณ 2 ชม.แล้วเลาะเปลือกออกให้เหลือแต่ถั่วเม็ดสีเหลือง )
น้ำตาลทราย 200 กรัม ( ผสมกับถั่ว )
น้ำตาลทราย 3 ถ้วยตวง ( ทำน้ำเชื่อม )
น้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกมะลิ 3ถ้วยตวง
น้ำกะทิ 400 กรัม

วิธธีทำขนมเม็ดขนุน
นำถั่วเขียวไปนึ่งให้สุก ประมาณ 20 นาที ได้ถั่วเขียวที่สุกแล้วนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำตาลทรายและกระทิ นำลงไปเคี่ยวในกระทะทองเหลือง กวนถั่วโดยใช้ไฟอ่อนๆ กวนจนรู้สึกเหนียวพอปั้นเป็นลูกได้ จากนั้นนำมาพักทิ้งไว้ให้เย็น
นำน้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกมะลิผสมกะน้ำตาลเคียวในกระทะทองเหลืองจนเป็นน้ำเชื่อมมีลักษณะเหนียวข้นก็พอ
นำถั่วกวนที่พักไว้จนเย็นมานวดให้เข้ากันอีกนิดหนึ่ง แล้วนำมาปั้นให้ได้ขนาดพอดีคำ หรือขนาดเท่าเม็ดขนุน นำไข่แดงที่เตรียมไว้มาตีให้ไข่แดงแตก จากนั้นนำเม็ดขนุนที่ปั้นเสร็จแล้วนำไปใส่ไข่ทีละเม็ดแล้วตักออกไปใส่ในน้ำเชื่อม เวลาวางอย่าให้ติดกัน ใส่ไปพอประมาณแล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆจนสุกจากนั้นนำออกมาพักไว้ แล้วทำส่วนที่เหลือจนหมด เท่านี้เราก็ได้ขนมเม็ดขนุนไว้ทานอร่อยๆหรือมอบให้คนที่คุณรักได้ชิมกันนะคะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมฝอยทอง

ขนมฝอยทอง เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่งและเป็น 1 ใน 9 ของขนมมงคลตระกูลทอง นิยมให้กันในงานมงคลต่างๆ โดยเฉพาะงานแต่งงานเพราะขนมฝอยทอง มีลักษณะเป็น เส้นฝอยๆยาวๆ ซึ่งถือเคล็ด กันว่าห้ามตัดเส้นขนมต้องปล่อยให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อที่ คู่บ่าวสาว จะได้ ครองชีวิตคู่ยืนยาวนานและรักกันตลอดไป



ขนมฝอยทองก็เป็นอีกหนึ่งขนมที่มาจากประเทศโปรตุเกสเหมือนกับขนมทองหยิบ ทองหยอด นำมาเผยแพร่โดยคุณท้าวทองกีบม้า ชาวโปรตุเกสนิยมทานพร้อมกับขนมปัง ขนมเค้ก และทานกับอาหารหลักจำพวกเนื้อสัตว์

ส่วนผสมขนมฝอยทองมีดังนี้ค่ะ
ไข่เป็ดเฉพาะไข่แดง 5 ฟอง
ไข่ไก่เฉพาะไข่แดง 5 ฟอง
น้ำตาลทราย 2 1/2 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกมะลิ 1 1/2 ถ้วยตวง (หรือน้ำเปล่า)
ไข่น้ำค้าง 2 ช้อนโต๊ะ(ไข่ขาวส่วนที่เป็นน้ำใสๆ ที่ติดอยู่กับเปลือกด้านป้าน)
น้ำมันพืช 1 ช้อนชา
กรวย(ใช้ใบตองพันเป็นกรวย)
ไม้แหลม (สำหรับตักและพับฝอยทองขึ้นจากกระทะ)

 วิธีทำขนมฝอยทอง
นำไข่แดงมาผสมกันและตีให้เข้ากัน จากนั้นผสมไข่น้ำค้างและน้ำมันพืชลงไปคนจนเข้ากันดี พักทิ้งไว้ มาทำน้ำเชื่อมกันนะคะ
นำน้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกมะลิผสมกับน้ำตาลลงในกระทะทองเหลือง เคี่ยวจนเดือดสักพัก ก็จะได้น้ำเชื่อมหอมกลิ่นมะลิ จากนั้นนำไข่ที่ผสมกันดีแล้วมาเทใส่กรวยที่เราเตรียมไว้ แล้วนำไปโรยในน้ำเชื่อมที่เดือด กะพอประมาณให้ได้เป็นแพ จากนั้นรอไข่สุกจึงใช้ไม้แหลมที่เตรียมไว้สอยขึ้นมาและพับให้เป็นแพตามที่ต้องการค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมทองหยอด

ขนมทองหยอด ถือเป็นขนมโบราณอีกประเภทหนึ่ง เป็น 1 ใน 9 ของขนมมงคล ชื่อทองหยอดถือเป็นชื่อมงคลเหมาะที่จะมอบให้กันในวันมงคลต่างๆ มักให้คู่กับทองหยิบ มีลักษณะเหมือนรูปหยดน้ำ ขนาดพอดีคำ มีสีเหลือง เพราะทำจากไข่


ส่วนผสมขนมทองหยอด มีดังนี้ค่ะ

ไข่เป็ด(เฉพาะไข่แดง) 12 ฟอง
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำเชื่อมสำหรับขนมทองหยอด

น้ำตาลทราย 8 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า(น้ำลอยดอกมะลิ) 4 ถ้วยตวง

วิธีทำขนมทองหยอด

นำไข่แดงมีตีจนเข้ากันจนขึ้นฟองฟู จากนั้นนำแป้งข้าวเจ้ามาร่อนประมาณ 2 ครั้ง มาผสมกับไข่ที่ตีแล้ว โดยค่อยๆใส่ลงไปแล้วใช้ช้อนคนๆเอา หากต้องการให้มีสีสดใส จะใส่สีผสมอาหารสีเหลือง หรือส้มลงไปก็ได้ค่ะ
นำน้ำเปล่าตั้งขึ้นไฟผสมน้ำตาลทรายลงไปพอละลายนำขึ้นมากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อม จากนั้น แบ่งน้ำเชื่อมออกเป็น 3 ส่วน  2 ส่วนเอาไว้หยอด อีก 1 ส่วนสำหรับแช่ที่หยอดเสร็จแล้ว นำน้ำเชื่อมที่มี2ส่วนขี้นตั้งไฟจนเดือด นำไข่ที่ผสมแล้วมาหยอดเป็นเม็ด โดยใช้ช้อนตักแล้วหยดลงไปในน้ำเชื่อมที่เดือดพอประมาณ เมื่อขนมสุกจะลอยขึ้นมา เราก็ตักลงไปแช่น้ำเชื่อมที่เราแบ่งไว้ 1 ส่วน พอเย็นแล้วตักขึ้นมาพักไว้ เท่านี้เราก็ได้ขนมทองหยอดอร่อยไว้ทานกันนะคะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมทองหยิบ


ขนมทองหยิบ เป็นขนมไทยโบราณเป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคล เป็นขนมของประเทศโปรตุเกส นำเข้ามาเผยแพร่โยคุณท้าวทองกีบม้า ในสมัยอยุธยา
ขนมทองหยิบมีความหมายที่เป็นสิริมงคล จึงเหมาะแกการมอบให้เป็นของขวัญ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อมอบให้แก่ใครแล้ว คนที่ได้รับจะมีแต่ความร่ำรวย มั่งคั่ง หยิบจับสิ่งใดก็จะเป็นทอง สมกับชื่อ ทองหยิบ


ส่วนผสมขนมทองหยิบ มีดังนี้ค่ะ
ไข่เป็ด(เฉพาะไข่แดง) 10 ฟอง
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
ถ้วยตะไล 
ส่วนผสมน้ำเชื่อม

น้ำตาลทราย 8 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า(ลอยดอกมะลิ) 4 ถ้วยตวง


วิธีทำขนมทองหยิบ

นำไข่แดง มาตีให้เข้ากันจนฟู ถ้าอยากให้มีสีสรรสดใส จะใสีสีผสมอาหารสีเหลือง หรือสีส้มลงไปก็ได้ จากนั้นนำน้ำเปล่าที่เตรียมไว้ตั้งไฟ เทน้ำตาลทรายใส่ลงไป พอน้ำตาลละลาย นำมากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปตั้งไฟเคี่ยวไปสักพักจนเป็นน้ำเชื่อม เสร็จแล้วแบ่งน้ำเชื่อมเป็น 2 ส่วน ส่วนนึงนำตั้งไฟให้เดือดจนฟู แล้วยกขึ้นจากเตา ใช้ช้อนตักไข่ที่เตรียมไว้ หยอดให้เป็นวงกลมๆ เต็มกะทะ แล้วยกขึ้นตั้งไฟจนไข่สุก เมื่อไข่สุกตักขึ้นใส่ในน้ำเชื่อมส่วนที่2 ทิ้งไว้สักพัก จึงตักขึ้นมาหยิบเป็นดอก ใส่ในถ้วยตะไล เป็นอันเสร็จเรีบร้อย เราก้ได้ขนมทองหยิบอร่อยๆ สวยๆ ทานกันค่ะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

*ขนมไทยโบราณ ขนมจ่ามงกุฏ

ขนมจ่ามงกุฏ เป็นขนมโบราณเป็น1ใน 9 ของขนมมงคล มีความหมายเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพียบพร้อมไปด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ ในสมัยก่อนนิยมทำกันมากในงานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานได้รับเลื่อนตำแห่ง ปัจจุบันหาทานได้ยากมาก อาจเนื่องจากวิธีการทำที่ยุ่งยาก แต่ที่เคยเห็นขนมจ่ามงกุฏในนปัจจุบันก็จะเห็นจะเป็นแถวๆร้านขายของฝากที่เพชรบุรีค่ะ


ก่อนอื่นต้องเตรียม
กระทะทองเหลือง
แป้งสาลี 1 ถ้วย
ไข่แดง 3 ฟอง
เม็ดแตงโมแกะแล้ว 1/2 ถ้วย
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย
น้ำดอกมะลิ 1 ถ้วย
ทองคำเปลวแท้ 2 แผ่น
เรามาดูวิธีการทำขนมจ่ามงกุฏกันนะคะ
 
1.น้ำกระทะทองเหลืองตั้งไฟจากนั้นนำน้ำลอยดอกมะลิ น้ำตาลทราย ลงมาเคี่ยวจนน้ำตาลละลาย จากนั้นนำมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อความสะอาด แล้วนำลงไปเคี่ยวต่อให้เดือดประมาณ 5 นาที ก็จะได้น้ำเชื่อมที่หอมดอกมะลิ จากนั้นนำใส่ภาชนะพักไว้
2.ล้างกระทะทองเหลืองให้สะอาดนำเมล็ดแตงโมไปจุ่มในน้ำเชื่อมแล้วนำไปคั่วในกะทะจนน้ำตาลเกาะติดเม็ดแตงโม ทิ้งไว้ให้หายร้อน แล้วนำไปใส่ในภาชนะที่มิดชิด อย่าให้อากาศเข้า เพราะจะทำให้เม็ดแตงโมไม่กรอบ
3.ระหว่างที่กวาดเม็ดแตงโมอยู่นั้น ต้องตะแคงกระทะและใช้ผ้าขาวบางเช็ดกระทะให้สะอาดอยู่เสมอ
4.นำแป้งสาลีผสมกับไข่ นำมานวดจนนิ่มมือ ถ้ายังแห้งๆเนื้อไม่เข้ากันให้เติมน้ำได้นิดหน่อย เมื่อเข้ากันดีแล้วนำแป้งมาคลึงเป็นแผ่นบางๆ กดให้กลมให้ได้ขนาดพอที่จะใส่ถ้วยตะไลได้ใช้ส้อมจิ้มให้ทั่ว แล้วจึงเอาไปอบให้พอสุก จากนั้นแกะออกจาถ้วยตะไลก็จะได้แป้งรองขนมรูปถ้วยตะไล
 5.เมื่อได้แป้งรองขนมแล้ว เราก็นำเม็ดแตงโมที่เตรียมไว้ มาแปะติดกับขอบๆด้านในของแป้งรองขนม โดยใช้น้ำเชื่อมเป็นตัวยึดให้เม็ดแตงโมกับแป้งรองขนมติดกัน
 6.จากนั้นเราก็มาปั้นขนมกัน โดยคลึงแป้งให้เป็นก้อนกลม นำปลายมีดกดรอยรอบๆไม่ต้องกดลึกมาก กดให้เป็นรอยสัก 6 ส่วน แล้วนำใส่แป้งรองขนมโดยหงายรอยที่เรากดไว้ด้านบน จากนั้นปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆเล็กๆติดด้านบนขนม ตรงกึ่งกลางที่เรากดเป็นรอย ขั้นตอนสุดท้ายคือนำแผ่นทองคำเปลวแบ่งมานิดหน่อยเพื่อมาติดไว้บนยอดสุด เพื่อเพิ่มความสวยงาม ดูมีค่า เหมาะสำหรับงานเป็นมงคล ค่ะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ