วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ข้าวต้มมัด

ข้าวต้มมัด เป็นขนมไทยโบราณ อีกชนิดหนึ่งที่ทำไม่ยากในปัจจุบันยังหาซื้อทานได้ตามตลาดนอกเมือง ในสมัยก่อนนิยมทำข้าวต้มมัดเพื่อไปทำบุญที่วัด ข้าวต้มมัด ในสมัยปัจจุบันจะแตกต่างจากข้าวต้มมัดในสมัยก่อน ตรงที่ในปัจจุบันจะใส่ถั่วดำ, เผือก หรือพวกเมล็ดธัญพืชลงไปเพื่อสร้างสีสรรและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เราดูส่วนผสมและวิธีทำข้าวต้มมัดแบบโบราณกันนะคะ

ขนมไทยโบราณ ข้าวต้มมัด


ส่วนผสม ข้าวต้มมัด
-ข้าวเหนียวแช่น้ำไว้แล้ว 2 ถ้วยตวง  
-หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง  
-น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง  
-เกลือป่น 2 ช้อนชา  
-กล้วยน้ำหว้าสุก 9 ลูก  
-ถั่วดำ แช่น้ำไว้ 1 คืน
-ใบตองสำหรับห่อ    

วิธีทำ ข้าวต้มมัด
-นำหัวกะทิ น้ำตาลทราย และเกลือ ผสมรวมกันในกระทะทองเหลือง จากนั้นตั้งไฟอ่อนๆ คนพอให้ส่วนผสมละลายเข้ากันได้ดี เคี่ยวต่อสักครู่
-นำใส่ข้าวเหนียวและถั่วดำ ผัดรวมกับกะทิด้วยไฟอ่อนๆ ผัดสักครู่จนกะทิแห้งยกลงจากเตา 
-นำกล้วยน้ำว้ามาปอกเปลือกออกแล้วผ่าครึ่งตามยาว
-นำใบตองมาฉีกให้ได้ความยาวพอดี วางซ้อนกัน 2 แผ่น นำข้าวเหนียวมาใส่ใบตองทำให้ข้าวเหนียวแบนๆจากนั้นใส่กล้วยลงไป แล้วใช้ข้าวเหนียวห่อกล้วยให้มิด ห่อด้วยใบตองให้แน่น นำใส่ลังถึงนึ่งด้วยน้ำเดือด 30-45 นาที หรือจนขนมข้าวต้มมัดสุก
     
เท่านี้เราก็ได้ข้าวต้มมัดอร่อยๆทานกัน ต้องชื่นชมคนในสมัยก่อนนะคะที่มีวิธีดีๆ ในการนำกล้วยมาทำเป็นขนมอร่อยๆแถมมีประโยชน์แก่ร่างกายเราอีกด้วยค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมเหนียว

ขนมเหนียว เป็น ขนมไทยโบราณ ที่ปัจจุบันหาทานได้ยากมาก ในสมัยโบราณจะหาซื้อได้ตามตลาดพื้นบ้าน มาดูวิธีการทำกันนะคะ ช่วยกันทำช่วยกันทาน ขนมไทยโบราณ ของเราจะได้คงอยู่ต่อไปนานๆ


ส่วนผสม ขนมเหนียว     
-แป้งข้าวเหนียว 1  ถ้วยตวง  
-แป้งข้าวเจ้า 1/4 ถ้วยตวง  
-ข้าวเหนียวแช่น้ำ 1/2 ถ้วยตวง  
-มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 2 ถ้วยตวง  
-น้ำตาลปีบ 1 ถ้วยตวง  
-เกลือป่น 1 ช้อนชา    
-น้ำลอยดอกไม้ 1/2 ถ้วยตวง  หรือ หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง
-ข้าวเหนียวตากแห้ง แล้วนำมาทอด 1 ถ้วย (สำหรับโรยหน้าขนมเหนียว)
-สีผสมอาหาร หรือสีธรรมชาติที่ได้จากใบเตย หรือดอกอัญชัญ
-มะพร้าวอ่อนขูดฝอย (สำหรับโรยหน้าขนมเหนียว)
    

วิธีทำ ขนมเหนียว
-นำแป้งข้าวเหนียวผสมกับแป้งข้าวเจ้าแล้วมาร่อนด้วยตะแกรง ใส่เกลือลงไปแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
-ค่อยๆใส่น้ำลอยดอกมะลิลงในแป้ง นวดจนแป้งเนียนนุ่มถ้าต้องการให้มีหลากหลายสีก็สามารถใส่สีผสมอาหารลงไป แบ่งได้หลายสีตามต้องการแล้วนวดให้เข้ากัน ประมาณ 20นาที
-ปั้นแป้งให้เป็นแผ่นหนาประมาณ 1/2 นิ้วยาวประมาณ 2-3 นิ้ววางเรียงลงในรังถึงที่ปูผ้าขาวบางไว้  นำไปนึ่งบนน้ำเดือดพล่านประมาณ 1/2 ชั่วโมง พอแป้งสุกยกลงแซะแป้งออกจากรังถึง หั่นแป้งเป็นชิ้นขนาดพอคำ  หรือนำไปต้มในน้ำเดือดก็ได้ หากนำไปต้มเมื่อแป้งสุกจะลอยขึ้นมาให้รีบตักออกแล้วคลุกกับมะพร้าวทันที
-น้ำน้ำตาลปี๊บมาเคี่ยวให้ออกข้นๆหนืดๆ อย่าคนบ่อยเพราะจะทำให้น้ำเชื่อมที่ได้ตกทราย ไม่อร่อย
-ตักใส่จานโรยด้วยมะพร้าวอ่อนขูด และตามด้วยข้าวเหนียวแห้งที่คั่วแล้ว เวลาเสริฟราดด้วยน้ำเชื่อม
เท่านี้เราก็จะได้ขนมเหนียว สูตรขนมโบราณ อร่อยๆทานกันนะคะ ลักษณะขนมเหนียวที่ถูกต้องคือ แป้งจะมีความเหนียว นุ่ม หอม 

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมสาลี่

ขนมสาลี่
ขนมไทยโบราณ วันนี้เราขอนำเสนอวิธีการทำขนมสาลี่ค่ะ  ขนมสาลี่เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง โดยใช้วิธีการทำแบบนึ่ง มีลักษณะฟูๆ นิ่มๆ หอมๆหากต้องการให้มีสีสรรสวยงามเราสามารถใส่สีผสมอาหารลงไปได้ วิธีทำขนมสาลี่ก็ไม่ยุ่งยาก มีส่วนผสมและขั้นตอนการทำดังนี้ค่ะ


ส่วนผสม ขนมสาลี่      
-แป้งสาลี 1 1/2  ถ้วยตวง  
-ไข่ไก่ 10 ฟอง  
-น้ำตาลทรายละเอียด 2 ถ้วยตวง    
-น้ำมะนาว 1 ช้อนชา  
-เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
-สีผสมอาหาร เช่น สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัญ
-แต่งหน้าขนมสาลี่ด้วย ลูกเกต, ผลไม้รวมเชื่อมหั่นชิ้นเล็กๆ หรือ เม็ดมะม่วงหิมพานต์

วิธีทำ ขนมสาลี่
-ตีไข่ไก่ด้วยความเร็วสูงให้ไข่ไก่เข้ากัน ระหว่างนั้นใส่น้ำตาลทรายลงไปด้วยค่อยๆใส่ จนไข่ที่ตีมีลักษณะฟูๆ และเป็นสีขาวนวลๆเติมน้ำมะนาว,เกลือป่น และกลิ่นวนิลาลงไปตีให้เข้ากัน
-ร่อนแป้งสาลีลงไปค่อยๆใส่ คนเบาๆให้เข้ากัน จนแป้งกับไข่เข้ากันดีแล้ว ใส่สีผสมอาหารอ่อนๆ คนให้เข้ากัน
-นำกะดาษสำหรับรองขนมปูลงในถาด หรือเราจะใช้แบบพิมพ์อื่นๆก็ได้ เทแป้งลงเกือบเต็ม แต่งหน้าด้วยของที่เตรียมไว้เช่น ลูกเกต เม็ดมะม่วงหิมพานต์
-ตั้งหม้ออนึ่งจนน้ำเดือดนำขนมไปนึ่งในลังถึง นึ่งขนมด้วยไฟกลางประมาณ 15-20 นาที หากแป้งหนาต้องใช้เวลานานขึ้น
-วิธีดูว่าแป้งข้างในสุกหรือไม่ โดยใช้ไม่เสียบลูกชิ้นจิ้มลงไปในขนม ถ้ายังมีเศษขนมติดไม้ออกมาแสดงว่าขนมสาลี่ยังไม่สุกให้นึ่งต่อ
-ขณะที่นึ่งและเปิดฝาหม้อต้องระวังไม่ให้ไอน้ำหยดใส่หน้าขนม  เพราะหน้าขนมจะไม่สวย เมื่อขนมสาลี่สุกแล้วยกลง รอให้เย็นดีแล้วจึงตัดเป็นชิ้นๆพร้อมเสริฟได้ทันทีค่ะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมน้ำดอกไม้

ขนมน้ำดอกไม้ เป็น ขนมไทยโบราณ อีกชนิดหนึ่งที่หาทานได้ยาก ขนมจะมีลักษณะนิ่มๆ มีกลิ่นหอม หากต้องการสีสรรที่สวยงาม เราสามารถหาสีผสมอาหารใส่ไปได้นะคะ ขนมไทยโบราณ ของเราส่วนมากขั้นตอนการทำขนมจะไม่ยุ่งยาก เครื่องมือก็หาได้ง่ายๆ ลองมาทำ ขนมน้ำดอกไม้ ทานกันดูนะคะ



ส่วนผสม ขนมน้ำดอกไม้   
-แป้งข้าวเจ้า 1 1/4  ถ้วยตวง  
-แป้งเท้ายายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ  
-น้ำตาล 1 ถ้วยตวง  
-น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วยตวง  
-น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง  
                          
ขั้นตอนการทำ ขนมน้ำดอกไม้
-นำแป้งข้าวเจ้าและแป้งท้าวยายม่อม ผสมเข้าด้วยกันค่อยๆใส่น้ำลอยดอกมะลิลงไปในแป้งทีละน้อยนวดจนแป้งเข้ากันดี 
-นำน้ำตาลผสมกับน้ำตั้งไฟเคี่ยวเพื่อทำน้ำเชื่อม จากนั้นใส่ลงในแป้งนวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน
-เราจะนำไปนึ่ง หาภาชนะที่ต้องการจะใส่ หรือใส่ในถ้วยตะไล (ขนมน้ำดอกไม้จะพอดีคำ)เรียงใส่ในลังถึง นำไปนึ่งด้วยไฟแรงจนน้ำเดือด ตักขนมใส่ลงไปในถ้วยตะไล จากนั้นนึ่งตอไปอีกประมาณ 10 นาที หรือจนกว่าขนมสุก
-ขนมสุกแล้วยกลงทิ้งไว้ให้ขนมน้ำดอกไม้เย็นก่อน จึงแคะออกจากถ้วยตะไล พร้อมเสริฟ (ถ้าอยากให้มีกลิ่นหอมกว่านี้ ก็นำไปอบในเที่ยนอบสักพักก็ได้ค่ะ)

ขั้นตอนการใช้เทียนอบ
แคะขนมที่เย็นแล้วมาใส่ในภาชนะใหญ่ๆที่มีฝาปิดได้ นำขนมน้ำดอกไม้มาเรียงใส่ภาชนะจนเต็ม จะวางขนมซ้อนๆ กันก้ได้นะคะ แต่อย่าให้แน่นเกิน จากนั้นจุดเทียนอบใส่ลงไป ปิดฝา ทิ้งไว้สักพัก 3-5 นาที จากนั้นนำเทียนออกมาแล้วปิดฝาเหมือนเดิม จากนั้นก็นำมาเสริฟได้เลยค่ะ

เท่านี้เราก็ได้ขนมน้ำดอกไม้อร่อยๆทานกัน ทำได้ไม่ยาก ลองทำกันดูแถมยังช่วยกันอนุรักษ์ขนมไทยโบราณ ให้คงอยู่ต่อไปนะคะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

*ขนมไทยโบราณ ขนมทรายหรือขนมขี้หนู

ขนมทราย หรือ ขนมขี้หนู เป็น ขนมไทยโบราณ ที่ปัจจุบันหาทานได้ยากมาก ในสมัยก่อนจะเรียกขนมชนิดนี้ว่าขนมขี้หนู ซึ่งดูไม่น่ารับประทานในสมัยปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า ขนมทราย ขั้นตอนการทำขนมทรายก็ไม่ยุ่งยากค่ะ เรามาช่วยกันอนุรักษ์ขนมไทยโบราณกันนะคะ ขั้นตอนการทำขนมทรายมีดังนี้ค่ะ



ผสมส่วนขนมทราย หรือ ขนมขี้หนู
แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วยตวง
น้ำดอกไม้ 2   1/2  ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 2   1/2  ถ้วยตวง
มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้นๆ  1 ถ้วยตวง  
สีผสมอาหารตามชอบ
              
วิธีการทำขนมทราย หรือ ขนมขี้หนู
 นำแป้งข้าวเจ้าผสมกับน้ำลอยดอกไม้ 1/2 ถ้วยตวง จากนั้นใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาดๆมาคลุมแป้งไว้

 นำน้ำตาลทราย กับน้ำดอกไม้ที่เหลือ 2 ถ้วยตวง มาเคี่ยวให้เดือด หากต้องการใส่สีผสมอาหารก็ใส่ได้ กรองให้สะอาดด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นพักไว้ให้เย็น

 ใช้ผ้าขาวบางปูในลังถึง จากนั้นยีแป้งข้าวเจ้าที่นวดไว้บนกระชอนลวด แล้วยีซ้ำอีกครั้ง 

 นำแป้งที่ยีไว้แล้วไปนึ่งในน้ำเดือดประมาณ 45 นาที จนแป้งสุกคอยระวังอย่าให้น้ำแห้งพอแป้งสุก เทใส่ชามผสมน้ำพักไว้ให้เย็น

 นำแป้งที่นึ่งสุกใส่ลงในอ่างน้ำเชื่อม ใช้ไม้พายคนเบาๆ หาฝาปิดไว้สักครู่เพื่อให้แป้งฟู ประมาณ 10 นาที คนต่ออีกครั้ง เพื่อให้แป้งกับน้ำเชื่อมเข้ากัน

จากนั้นจึงนำไปอบด้วยดอกมะลิหรือเทียนอบ

ลองทำทานกันดูนะคะ ขนมอร่อยๆ ทำได้ไม่ยาก ช่วยกันอนุรักษ์ ขนมไทยโบราณ กันค่ะ ก่อนเสริฟโรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดฝอยด้วยนะคะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมตาล

ขนมตาล เป็นขนมไทยโบราณ ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในปัจจุบันก็ยังหาขนมตาลทานได้ไม่ยาก ขั้นตอนการทำขนมตาลมีดังนี้ค่ะ



ส่วนผสมขนมตาล      
ลูกตาลสุก 1 ผล  (ปัจจุบันมีขายเป็นถุง)
ข้าวสารเก่า 2 ถ้วยตวง  
แป้งท้าวยายม่อม 1/4 ถ้วยตวง  
น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง  
หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง  
มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 2 ถ้วยตวง    
เกลือป่น 1 ช้อนชา    
               
วิธีการทำขนมตาล
-ลอกเปลือกลูกตาลออกให้หมด จากนั้นขูดเอาเนื้อสีเหลืองออกให้หมดจากนั้น ตัวลูกตาลแช่น้ำไว้จนเนื้อลูกตาลละลายออกหมด ใช้ผ้าห่อเนื้อลูกตาล และน้ำที่ละลายผูกมัดปากรวมไว้ให้แน่นแล้วแขวนให้แห้ง 
-โม่ข้าวสารที่แช่น้ำไว้ให้ละเอียด ใช้ผ้าห่อแล้วแขวนไว้ให้แห้ง
-นำแป้งท้าวยายม่อมมาผสมกับลูกตาลที่เราแขวนไว้จนแห้งแล้วและข้าวสารที่เราแขวนไว้จนแห้ง นวดส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันจนได้แป้งที่เนียนนุ่มมือ
-ผสมน้ำตาลกับหัวกะทิ คนให้เข้ากัน จากนั้นนำไปผสมกับแป้งที่ได้ คนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันแล้วพักไว้ 5 ชั่วโมง
-ตักแป้งที่เราพักไว้ใส่ใบตอง หรือถ้วยตะไล โรยมะพร้าวขูดฝอยนิดหน่อย จากนั้นนำไปนึ่งจนสุก ถ้าเป็นถ้วยตะไลต้องรอให้เย็นก่อนจึงนำออกจากถ้วยตะไล

ขนมไทยโบราณ อร่อยๆยังมีอีกเยอะนะคะทางเราจะทะยอยนำมาเสนอให้คุณๆได้ลองทำทานกันนะคะ
ช่วยกันทำ ช่วยกันทาน ขนมไทยโบราณก็จะยังคงอยู่นะคะ ^ ^

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมกล้วย

ขนมกล้วย เป็นขนมไทยโบราณ อีกชนิดหนึ่งที่คนโบราณนิยมทำทานกันมากเพราะสมัยโบราณเรานิยมปลูกต้นกล้วยกันเยอะมาก กล้วยก็มีเยอะ การทำขนมกล้วยจึงเป็นการถนอมอาหารอีกวิธีที่คนโบราณสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน



ส่วนผสมขนมกล้วย      
กล้วยน้ำว้าสุกนำมาบด 2 ถ้วยตวง
แป้งมันสำปะหลัง 2 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง  
แป้งท้าวยายม่อม 3 ช้อนโต๊ะ
หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
มะพร้าวทึนทึกขูด 1/4 ช้อนโต๊ะ  
เกลือป่น 1 ช้อนชา    
     
วิธีทำขนมกล้วย
-นำแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า และแป้งท้าวยายม่อม ผสมให้เข้ากันจากนั้นใส่หัวกะทิลงไปนวดจนแป้งเป็นเนื้อเดียวกัน
-ใส่กล้วยสุกบด และน้ำตาลทราย ลงในแป้งที่นวดไว้แล้ว คนให้เข้ากัน จนน้ำตาลละลาย
-มะพร้าวทึนทึกขูดฝอยผสมเกลือป่น แบ่งครึ่งผสมลงไปในส่วนผสมที่ได้ คนให้เข้ากัน อีกครึ่งหนึ่งไว้โรยเวลาเสริฟ
-นำส่วนผสมที่ได้ใส่ใบตองแล้วแต่เราออกแบบหรือใส่พิมพ์ภาชนะอื่นๆที่เตรียมไว้ไปนึ่งให้สุกด้วยไฟแรงประมาณ 15 นาที หรือจนขนมกล้วยสุก จากนั้นยกลง เวลาเสริฟให้โรยด้วยมะพร้าวขูดฝอยผสมเกลือป่นนิดหน่อย

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมกรวย

ขนมกรวย เป็นขนมไทยโบราณ ที่หาทานได้ไม่ง่ายในปัจจุบัน ขั้นตอนการทำก็ไม่ยุ่งยาก มาช่วยกันอนุรักษ์ขนมไทยโบราณกันนะคะ


ส่วนผสมขนมกรวย ส่วนที่ 1    
แป้งข้าวเจ้า 1/2 ถ้วยตวง
แป้งถั่วเขียว 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำ 3/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลปึก 1/3 ถ้วยตวง

ส่วนผสมขนมกรวย ส่วนที่ 2
หัวกะทิ 1/3 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1/4 ช้อนชา

ใบตองตานีฉีกกว้างขนาด พอดีๆแล้วแต่ชอบนะคะม้วนให้เป็นกรวยปลายแหลมปิดสนิท ใช่เข็มกลัดทางมะพร้าวกลัดปิดด้านข้าง เพื่อไม่ให้กรวยคลายออกจากกัน ขนมไทยโบราณ นิยมใช้ใบตองในการห่อขนมค่ะ
ขั้นตอนการทำขนมกรวย

- นำส่วนผสมที่ 1 นวดแป้งข้าวเจ้ากับแป้งถั่วเขียวให้เข้ากัน โดยเติมน้ำลงทีละน้อย นวดต่อไปสัก 10 นาที แล้วใส่น้ำตาลปึก นวดต่อไปจนเข้ากันดี แล้วเติมน้ำส่วนที่เหลือ พักไว้
- นำส่วนผสมที่ 2 ผสมส่วนหน้ากะทิ คนแป้งกับกะทิและเกลือให้เข้ากัน
- ตั้งรังถึงให้น้ำเดือด อย่าใส่น้ำมาก เพราเวลาน้ำเดือดอาจโดนขนมได้
- เสียบกรวยใบตองที่ทำไว้ลงในรูของรังถึง โดยเหลือรูว่างให้ไอน้ำพลุ่ง ขึ้นข้างบนได้ด้วย หยอดส่วนผสมที่ 1 ลงในกรวยประมาณ 3/4 ของ กรวย ยกขึ้นนึ่งประมาณ 5 นาที จากนั้นหยอดส่วนผสมที่ 2 ให้เต็มปากกรวยพอดี แล้วนำไปนึ่งต่อประมาณ 3-5 นาที จนสุก
-  พักไว้จนเย็นสนิทจึงเสิร์ฟ
ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ สังขยาฟักทอง

สังขยาฟักทอง เป็นขนมไทยโบราณ เป็นขนมไทยที่ยังพอหาทานได้ไม่ยากค่ะ ถ้าจะทำทานเองเป็นอาหารว่างเรามีสูตรสังขยาฟักทองอร่อยๆมาฝากค่ะ


*ส่วนผสมสังขยาฟักทอง*
ฟักทอง  1 ลูก (น้ำหนักประมาณ 500 กรัม)
ไข่ไก่  4 ฟอง
หัวกะทิ 3/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลปิ๊บ 1/4 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1/4 ช้่อนชา
น้ำปูนใส (สำหรับแช่ฟักทองเพื่อที่ฟักทองจะไม่แตกเวลานึ่ง)

*วิธีทำสังขยาฟักทอง*
นำฟักทองมาเจาะเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมบริเวณขั้ว จากนั้นคว้านเมล็ดออกให้หมดจนข้างในกลวง นำไปแช่น้ำปูนใส ประมาณ 10 นาที
นำไข่ไก่, หัวกะทิ, น้ำตาลปี๊บ, แป้งข้าวเจ้าและเกลือป่น มาผสมรวมกัน คนจนเข้ากันดี นำส่วนผสมที่ได้ไปใส่ลงในฟักทอง นำไปนึ่งประมาณ 25-30 นาที หรือจนสุก นำออกมาทิ้งไว้ให้เย็น เวลาเสริฟตัดเป็นชิ้นๆระวังอย่าให้ใส้ข้างในล้ม
สังขยาฟักทองสูตรนี้จะไม่หวานมากนะคะ หากเป็นคนที่ชอบทานหวานมากก็สามารถเพิ่มน้ำตาลปี๊บเพิ่มได้ค่ะ ลองทำทานกันนะคะขนมไทยโบราณของเราจะได้ไม่สูญหายไปค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมหม้อแกงถั่ว ขนมหม้อแกงเผือก

ขนมหม้อแกง เป็นขนมไทยโบราณ ที่ในสมัยโบราณทำกันเฉพาะในวังหรือที่เรียกว่าขนมชาววังเท่านั้น ต่อมาได้มีการนำสูตรออกมาเผยแพร่และกลายเป็นขนมมีชื่อของจังหวัดเพชรบุรี มีหลายสูตรให้เลือกรับประทานเช่น ขนมหม้อแกงถั่ว ขนมหม้อแกงเผือก ขนมหม้อแกงไข่


*ส่วนผสมขนมหม้อแกงถั่วและขนมหม้อแกงเผือก
ไข่ไก่  3 ฟอง
ถั่วเขียว  250 กรัม หรือจะใช้เผือก แทนก็ได้
หัวกะทิ  1 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า  4 ถ้วยตวง
น้ำตาลปี๊บ  250 กรัม
เกลือป่า  1/4 ช้อนชา
ใบเตย  3 ใบ
หอมแดงซอยละเอียด 3 หัว

*วิธีทำขนมหม้อแกงถั่วและขนมหม้อแกงเผือก
นำหอมแดงซอยไปเจียวในน้ำมันด้วยไฟอ่อนๆจนเหลืองและกรอบ
นำถั่วเขียวไปแช่ในน้ำเปล่าสัก 2 ชั่วโมง ลอกเปลือกสีเขียวออกให้หมดแล้วนำไปนึ่ง ถ้าเป็นเผือกนำไปปอกเปลือกแล้วนำไปนึ่งจนสุก แล้วนำไปยีให้ละเอียด
ผสมไข่ น้ำตาลปี๊บ และเกลือ เข้าด้วยกัน จากนั้นใส่ใบเตยลงไปขยำให้เข้ากัน ใส่น้ำกะทิลงไป ขยำจนเข้ากันดี นำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง
นำถั่วหรือเผือกที่เตรียมไว้ใส่ลงไปเพิ่มความหอดด้วยการใส่น้ำมันที่เจียวหอมแดง 2ช้อนโต๊ะ กวนทั้งหมดให้เข้ากัน
นำทั้งหมดไปกวนในกระทะทองเหลือง จนส่วนผสมมีลักษณะข้น นำส่วนผสมที่ได้ไปใส่ภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อที่เราจะนำไปอบต่อที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส อบทิ้งไว้ 30 นาที จากนั้นนำหอมแดงที่เจียวไว้ไปโรยหน้าขนมหม้อแกง แล้วนำไปอบต่ออีก 5 นาที เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อยค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมเปียกปูน

ขนมเปียกปูน เป็นขนมไทยโบราณอีกชนิดหนึ่งที่ยังพอหาทานได้ในปัจจุบัน ขนมจะมีลักษณะนิ่มๆมีมะพร้าวขูดฝอยโรยหน้า สีขนมจะเป็นสีดำซึ่งคนในสมัยโบราณใช้ภูมิปัญญาในการหาสีดำจากธรรมชาติโดยใช้กาบมะพร้าวเผา แต่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงสูตร จากขนมเปียกปูนสีดำมาเป็นมีสีเขียวโดยใช้น้ำ
ใบเตยเป็นส่วนผสมแทนกาบมะพร้าวเผา วันนี้เราได้นำสูตรทำขนมเปียกปูนมาฝาก 2 สูตรด้วยกันนะคะ


*ส่วนผสมขนมเปียกปูนมีดังนี้ค่ะ
แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วยตวง
แป้งเท้ายายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลมะพร้าว 400 กรัม
น้ำกาบมะพร้าวเผา 3/4 ถ้วยตวง (นำกาบมะพร้าวไปเผาไฟพอไหม้นิดหน่อยนำไปจุ่มในน้ำสะอาด ทิ้งให้แห้งแล้วนำไปโขลกให้ละเอียด นำไปร่อนให้ได้ผง
ละเอียดแล้วผสมกับน้ำ)
น้ำกะทิ 1 ถ้วยตวง
น้ำปูนใส 4 ถ้วยตวง
เนื้อมะพร้าวขูดฝอย 1 1/2 ถ้วย (คลุกเกลือนิดหน่อย ไว้สำหรับโรยหน้า)
     
*วิธีทำขนมเปียกปูน
นำแป้งข้าวเจ้า, แป้งเท้ายายม่อม, น้ำปูนใส, น้ำกะทิ, น้ำกาบมะพร้าว และ น้ำตาลมะพร้าว มาผสมกัน คนจนทุกอย่างละลายเข้ากันดีแล้วนำไปกรองด้วย
ผ้าขาวบาง หลังจากนั้นนำส่วนผสมที่ได้ใส่ลงในกระทะทองเหลือง นำไปกวนโดยใช้ไฟแรง กวนจนแป้งเหนียวจับตัวเป็นก้อน ค่อยๆลดไฟลงกวนต่อจน
แป้งข้นและเหนียวกว่าเดิม จากนั้นเทใส่ถาดหรือภาชนะที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้หน้าเรียบเสมอกัน เวลาเสริฟตัดขนมเป็นชิ้นตามต้องการและโรยหน้าขนม
ด้วยมะพร้าวขูดฝอย


*ส่วนผสมขนมเปียกปูนใบเตย
 แป้งข้าวเจ้าชนิดผง   2  1/2  ถ้วยตวง
 แป้งท้าวยายม่อม  1/2    ถ้วยตวง
 แป้งถั่ว   1/4    ถ้วยตวง
 น้ำตาลทราย   3  ถ้วยตวง
 น้ำปูนใส   4  ถ้วยตวง
 หัวกะทิ   1  1/2   ถ้วยตวง
 น้ำใบเตยข้น ๆ   1/2   ถ้วยตวง
 เนื้อมะพร้าวขูดฝอย  1 1/2  ถ้วย (คลุกเกลือนิดหน่อย สำหรับโรยหน้า)

*วิธีทำขนมเปียกปูนใบเตย
นำแป้งข้าวเจ้า, แป้งท้าวยายม่อม, แป้งถั่วเขียว มาผสมรวมกับหัวกะทิ น้ำใบเตย คนเข้ากันดีใส่ใส่น้ำปูนใสลงไป กรองด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นนำไปใส่ในกระทะทองเหลือง กวนจนแป้งเหนียวข้น จากนั้นเทใส่ถาดหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ปาดหน้าขนมให้เรียบเสมอกัน รอให้เย็นตักเป็นชิ้นตามต้องการก่อนเสริฟโรยหน้าขนมด้วยมะพร้าวขูดฝอย


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมลูกชุบ

ขนมลูกชุบ เป็นขนมไทยโบราณ ทำจากถั่วเขียวที่ลอกเปลือกแล้ว นำมาบดมากวนแล้วปั้นเป็นรูปผลไม้เล็กๆโดยมีการนำสีมาระบายให้เหมือนผลไม้จริง และตกแต่งด้วยใบไม้ กิ่งไม้เล็กๆ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของคนทำค่ะ ขนมไทยๆในสมัยโบราณจะเน้นการประดิษประดอยสวยงาม นิยมนำไปมอบในงานมงคลต่างๆ เช่นขึ้นบ้านใหม่ ให้เนื่องในวันปีใหม่ ค่ะ


*ส่วนผสมขนมลูกชุบมีดังนี้
ถั่วเขียว  450  กรัม
น้ำกะทิ  400  กรัม
น้ำตาลทราย  200  กรัม 
*วุ้นสำหรับเคลือบขนมลูกชุบ(ปั้นขนมเสร็จแล้วต้องจุ่มลงไปในวุ้น)
วุ้นผง  3  ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง (สำหรับทำน้ำวุ้น)
สีสำหรับระบายขนม เช่น สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน หรือใช้สีผสมอาหารก็ได้
พู่กันและจานสี
ไม้จิ้มฟัน
ฟองน้ำแข็งๆ หรือโฟม สำหรับเสียบลูกชุบเพื่อรอให้วุ้นแห้ง

*ขั้นตอนการทำขนมลูกชุบมีดังนี้
นำถั่วเขียวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าอยากลดเวลาให้แช่ในน้ำร้อนค่ะ ลอกเปลือกสีเขียวออกให้หมด นำถั่วที่เหลือแต่สีเหลืองไปนึ่งให้สุก ประมาณ 15-20 นาที เมื่อถั่วสุกดีแล้วนำไปบด แต่ปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรงเรานำไปใส่เครื่องปั่นไฟฟ้าก็ได้ค่ะ ปั่นถั่วละเอียดดีแล้วผสมกะทิและน้ำตาลทรายลงไป
นำส่วนผสมทั้งหมดไปกวนในกระทะทองเหลือง หรือกระทะเคลือบเทฟลอน กวนด้วยไฟอ่อนๆ ถ้าใช้ไฟแรงเกินถั่วจะไหม้ได้ กวนจนข้นและเหนียว ยกลงพักให้เย็น ถั่วกวนที่ได้ต้องแห้งพอปั้นได้
นำถั่วที่ได้มาปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้ตามใจชอบ เสร็จแล้วเสียบไม้จิ้มฟันไว้ ควรปั้นถั่วให้หมดทีเดียว ถั่วที่ปั้นเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำหมาดๆคลุมไว้
ผสมสีตามที่ต้องการ ใช้พู่กันระบายตามใจชอบ พักไว้เตรียมนำไปชุบน้ำวุ้น
ผสมน้ำเปล่า ผงวุ้น น้ำตาลทราย คนให้ละลาย นำไปตั้งบนไฟอ่อนๆรอจนส่วนผสมเดือดแล้วหรี่ไฟลง หากมีฟองต้องซ้อนฟองออก จากนั้นนำถั่วที่ปั้นและระบายสีที่เตรียมไว้มาจุ่มลงในน้ำวุ้น ชุบด้วยน้ำวุ้นสัก2-3ครั้ง นำไปเสียบโฟมที่เตียมไว้ เมื่อวุ้นแห้งดีแล้วนำออกจากไม้จิ้มฟันแล้วหาใบไม้ หรือกิ่งไม้มาตกแต่งตามชอบ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

*ขนมไทยโบราณ ขนมถ้วยฟู

ขนมถ้วยฟู เป็นขนมโบราณที่นำเข้ามาในเมืองไทยเราโดยคนจีน และเป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคลของคนไทย  ชาวจีนเรียกขนมถ้วยฟูว่า ฮวดโก้ย หมายถึง มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู จึงเป็นอีกขนมหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานมงคล ชาวจีนและชาวไทย นิยมนำไปไหว้เจ้า หรือประกอบพิธีงานมงคลต่างๆ ในงานแต่งงานนิยมทำขนมถ้วยฟูเป็นสีแดง ใช้ไหว้เจ้าหรืองานมงคลต่างๆนิยมใช้สีชมพู  ใช้ในงานอวมงคล หรือไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนิยมใช้สีขาว ในปัจจุบันยังหาทานได้ง่าย มีหลากหลายสี เช่น ชมพู เขียว ขาว ฟ้า


ส่วนผสมของขนมถ้วยฟู
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกไม้ 1/2 ถ้วยตวง
ยีสต์ 1 ช้อนชา
ผงฟู 1 ช้อนชา
ถ้วยตะไล
รังถึงสำหรับนึ่ง

วิธีทำขนมถ้วยฟู
น้ำตาลทรายมาผสมกับน้ำลอยดอกมะลิคนให้น้ำตาลละลาย
นำแป้งข้าวเจ้าและยีสต์มาผสมกันคนให้เข้ากันทั่วๆ จากนั้นค่อยๆเทน้ำดอกมะลิที่ผสมน้ำตาลแล้วลงในแป้งนวดจนแป้งนิ่ม แล้วเทน้ำใส่จนหมด ใส่ผงฟู นวดต่อไปจนเข้ากัน ปิดผาทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง  เรียงถ้วยตะไลลงในรังถึงจากนั้นนำไปนึงประมาณ 5 นาที นำขนมที่ได้ใส่ลงในถ้วยตะไลจนเต็มจากนั้นนึ่งขนมต่อจนสุกใช้เวลาประมาณ 15 นาที วิธีดูว่าแป้งข้างในสุกหรือไม่ให้ใช้ไม้เล็กๆขนาดไม้เสียบลูกชิ้นแทงเข้าไปในขนม ถ้าขนมสุกเวลาดึงไม้ออกมาจะไม่มีแป้งติดไม้ออกมาค่ะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมชั้น


*ขนมชั้น


ขนมชั้น เป็นขนมไทยโบราณ อีกชนิดหนึ่งที่ทำได้ไม่ยาก และเป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคล ในสมัยโบราณ เชื่อกันว่าต้องทำให้ได้ 9 ชั้นถึงจะดี เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าเลข 9 คือเลขมงคล หมายถึงความเจริญก้าวหน้า ขนมชั้นในสมัยโบราณ นิยมให้กันในงานเลื่อนขั้น เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง หมายถึงคนที่ได้รับจะได้ก้าวหน้าในการงานยิ่งๆขึ้นไป ในปัจจุบันยังหาทานได้ง่ายตามท้องตลาด และได้มีการ ประยุกต์รูปแบบเป็นชั้นๆในสมัยโบราณ มาทำเป็นรูปดอกไม้หลากหลายชนิด เห็นแล้วน่ารับประทานมากค่ะ

 
ส่วนผสมของขนมชั้น
แป้งมัน 2 ถ้วย (จะทำให้ขนมมีเนื้อเนียน นุ่ม หนืดๆ ใสเป็นมัน)
แป้งท้าวยายม่อม 1 ถ้วย (จะทำให้ขนมมีเนื้อเนียน เหนียว แข็งนิดๆแต่เนื้อแป้งใสสู้แป้งมันไม่ได้)
แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ (จะทำให้เนื้อขนมแข็ง และอยู่ตัว)
แป้งถั่วเขียว 2 ช้อนโต๊ะ (จะทำเนื้อขนมอยู่ตัว ไม่เหนียวมากเกินไป)
หัวกะทิ 4 ถ้วย
น้ำตาลทราย 3 ถ้วย
น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วย
ดอกอัญชัญ 20 ดอก คั้นเอาน้ำข้นๆ(ถ้าอยากได้ขนมสีม่วง) หรือ
ใบเตย 10 ใบ คั้นเอาน้ำข้นๆ(ถ้าอยากได้ขนมสีเขียว)


วิธีทำขนมชั้น
นำน้ำลอยดอกมะลิผสมกับน้ำตาลเคี่ยวบนกระทะทองเหลืองจนมีลักษณะเป็นน้ำเชื่อมคือข้นๆเหนียวๆ นำขึ้นพักไว้ จากนั้นนำแป้งทั้ง4ชนิดมารวมกันค่อยๆใส่ลงไปในกะทิทีละน้อยๆคนให้เข้ากันจนหมด ใสน้ำเชื่อมลงไปคนให้เข้ากัน เมื่อส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้ว นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง แล้วแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสีขาว ส่วนที่สองใส่น้ำดอกอัญชัญ หรือน้ำใบเตย หรือสีผสมอาหารตามชอบ
นำถาดทาน้ำมันให้ทั่วแล้วนำไปนึ่งใส่ป้งสีขาวลงไปประมาณครึ่งถ้วยหรือพอให้เป็นชั้นบางๆ นึ่งให้สุกประมาณ 5 นาที จากนั้นทำชั้นที่ 2 ใส่สีม่วงจากดอกอัญชัญ หรือสีเขียวจากใบเตย นึ่งอีก 5 นาที ทำแบบนี้สลับกันไป ส่วนชั้นบนสุดควรเป็นชันที่เป็นสีโดยใส่ให้สีเข้มกว่าชั้นอื่นๆเพื่อความสวยงามค่ะ
ทิ้งให้เย็นแล้วตัด ตกแต่ง ได้ตามชอบใจค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมเสน่ห์จันทร์

ขนมเสน่ห์จันทร์ เป็นขนมไทยโบราณ เป็น 1 ใน 9 ของขนมมงคลเหมาะให้กันในงานมงคลต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานเลื่อนขั้นยศ
ตำแหน่ง ขนมเสน่ห์จันทร์ มีความหมายถึง ความเป็นคนมีเสน่ห์ มีแต่คนรักคนหลง ผู้ใหญ่เมตตา ในปัจจุบันหาทานได้ยากมาก


 
ส่วนผสมของขนมเสน่ห์จันทร์มีดังนี้ค่ะ

ไข่ไก่(เฉพาะไข่แดง)  2  ฟอง
แป้งข้าวเจ้า  1  ถ้วย
แป้งข้าวเหนียว  1/2  ถ้วย
น้ำตาลทราย  2  ถ้วย
กระทิ  3  ถ้วย
ผงจันทร์เทศป่นนิดหน่อย
สีผสมอาหาร สีเหลือง สีส้ม สีน้ำตาล

ขั้นตอนการทำขนมเสน่ห์จันทร์

นำแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวมาร่อนก่อนตวง จากนั้นนำมาผสมกัน
นำกระทิผสมกับน้ำตาลคนให้ละลายแล้วกรองด้วยผ้าขาวบบาง นำขึ้นเตาเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆและควรใช้กระทะทองเหลือง จากนั้นใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียวกับผงจันทร์ป่นลงไป กวนให้เข้ากันจนเริ่มจับเป็นก้อน ใส่ไข่แดงลงไปแล้วรีบคนให้เข้ากัน ใส่สีผสมอาหารสีเหลือลงไปนิดหนึ่ง จากนั้นกวนต่อจนแป้งเป็นก้อนพอที่จะปั้นได้ พักให้หายร้อนแต่พออุ่น นำแป้งที่ได้มาปั้นเป็นลูกกลมๆเท่าลูกจันทร์ นำแป้งบางส่วนใส่สีผสมอาหารสีน้ำตาลเพื่อทำเป็นขั้วของลูกจันทร์ ตกแต่งด้วยใบและก้านของลูกจันทร์ถ้ามี เท่านี้ก็ได้ขนมเสน่ห์จันทร์สวยๆ อร่อยๆ มาทานกันนะคะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

*ขนมไทยโบราณ ขนมทองเอก

ขนมทองเอก เป็นขนมไทยโบราณ เป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคลตระกลูทองซึ่งมีความหมายแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว รักเดียวใจเดียว หรือความเป็นที่สุด เหมาะสำหรับให้กันในงานมงคลต่างๆ



ในสมัยโบราณการทำขนมทองเอกจะมีการนำทองคำเปลวมาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆเพื่อมาประดับไว้บนขนม แต่ปัจจุบันไม่นิยมนำทองคำเปลวมาประดับบนขนมเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ส่วนผสมขนมทองเอกมีดังนี้
ไข่เป็ด(เฉพาะไข่แดง) 5 ฟอง
ไข่ไก่(เฉพาะไข่แดง)   5 ฟอง
แป้งสาลี  1  ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย  1  ถ้วยตวง
หัวกะทิ  1  1/4   ถ้วยตวง

 วิธีทำขนมทองเอก
นำไข่แดงใส่ภาชนะที่ปิดผาไว้อย่าให้โดนลม จากนั้นนำหัวกะทิ น้ำตาลทราย ใส่ในกระทะทองเหลือง นำขึ้นตั้งบนไฟอ่อนๆเคี่ยวจนมีลักษณะข้นๆจึงยกลงจากเตา นำไข่แดงลงมาผสมคนกันเร็วๆ ให้เข้ากันจากนั้นนำแป้งสาลีที่เตรียมไว้ใส่ลงไปคนให้เข้ากัน แล้วยกขึ้นกวนต่อด้วยไฟอ่อนๆจนไข่สุก และแป้งไม่ติดกระทะ จากนั้นยกลงพักให้เย็นสักครู่ นำขนมมาแบ่งเป็นก้อนกลมๆให้ได้ขนาดพอดีกับแบบพิมพ์ กดขนมในแบบพิมพ์แล้วเคาะออกเรียงใส่ภาชนะ พร้อมเสริฟ
 

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมเม็ดขนุน

ขนมเม็ดขนุน เป็น ขนมไทยโบราณ  1 ใน 9 ของขนมมงคล มอบให้แก่กันในวันมงคลต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ งานขึ้นบ้านใหม่ งานเลื่อนยศตำแหน่ง เพราะ ขนมเม็ดขนุน มีความหมายถึงจะทำอะไรก็มีคนคอยค้ำจุน สนับสนุน ให้เจริญก้าวหน้า


 ส่วนประกอบมีดังนี้ค่ะ
ไข่เป็ด( เฉพาะไข่แดง ) 5 ฟอง
ถั่วเขียว 450 กรัม ( นำไปแช่น้ำประมาณ 2 ชม.แล้วเลาะเปลือกออกให้เหลือแต่ถั่วเม็ดสีเหลือง )
น้ำตาลทราย 200 กรัม ( ผสมกับถั่ว )
น้ำตาลทราย 3 ถ้วยตวง ( ทำน้ำเชื่อม )
น้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกมะลิ 3ถ้วยตวง
น้ำกะทิ 400 กรัม

วิธธีทำขนมเม็ดขนุน
นำถั่วเขียวไปนึ่งให้สุก ประมาณ 20 นาที ได้ถั่วเขียวที่สุกแล้วนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำตาลทรายและกระทิ นำลงไปเคี่ยวในกระทะทองเหลือง กวนถั่วโดยใช้ไฟอ่อนๆ กวนจนรู้สึกเหนียวพอปั้นเป็นลูกได้ จากนั้นนำมาพักทิ้งไว้ให้เย็น
นำน้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกมะลิผสมกะน้ำตาลเคียวในกระทะทองเหลืองจนเป็นน้ำเชื่อมมีลักษณะเหนียวข้นก็พอ
นำถั่วกวนที่พักไว้จนเย็นมานวดให้เข้ากันอีกนิดหนึ่ง แล้วนำมาปั้นให้ได้ขนาดพอดีคำ หรือขนาดเท่าเม็ดขนุน นำไข่แดงที่เตรียมไว้มาตีให้ไข่แดงแตก จากนั้นนำเม็ดขนุนที่ปั้นเสร็จแล้วนำไปใส่ไข่ทีละเม็ดแล้วตักออกไปใส่ในน้ำเชื่อม เวลาวางอย่าให้ติดกัน ใส่ไปพอประมาณแล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆจนสุกจากนั้นนำออกมาพักไว้ แล้วทำส่วนที่เหลือจนหมด เท่านี้เราก็ได้ขนมเม็ดขนุนไว้ทานอร่อยๆหรือมอบให้คนที่คุณรักได้ชิมกันนะคะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมฝอยทอง

ขนมฝอยทอง เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่งและเป็น 1 ใน 9 ของขนมมงคลตระกูลทอง นิยมให้กันในงานมงคลต่างๆ โดยเฉพาะงานแต่งงานเพราะขนมฝอยทอง มีลักษณะเป็น เส้นฝอยๆยาวๆ ซึ่งถือเคล็ด กันว่าห้ามตัดเส้นขนมต้องปล่อยให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อที่ คู่บ่าวสาว จะได้ ครองชีวิตคู่ยืนยาวนานและรักกันตลอดไป



ขนมฝอยทองก็เป็นอีกหนึ่งขนมที่มาจากประเทศโปรตุเกสเหมือนกับขนมทองหยิบ ทองหยอด นำมาเผยแพร่โดยคุณท้าวทองกีบม้า ชาวโปรตุเกสนิยมทานพร้อมกับขนมปัง ขนมเค้ก และทานกับอาหารหลักจำพวกเนื้อสัตว์

ส่วนผสมขนมฝอยทองมีดังนี้ค่ะ
ไข่เป็ดเฉพาะไข่แดง 5 ฟอง
ไข่ไก่เฉพาะไข่แดง 5 ฟอง
น้ำตาลทราย 2 1/2 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกมะลิ 1 1/2 ถ้วยตวง (หรือน้ำเปล่า)
ไข่น้ำค้าง 2 ช้อนโต๊ะ(ไข่ขาวส่วนที่เป็นน้ำใสๆ ที่ติดอยู่กับเปลือกด้านป้าน)
น้ำมันพืช 1 ช้อนชา
กรวย(ใช้ใบตองพันเป็นกรวย)
ไม้แหลม (สำหรับตักและพับฝอยทองขึ้นจากกระทะ)

 วิธีทำขนมฝอยทอง
นำไข่แดงมาผสมกันและตีให้เข้ากัน จากนั้นผสมไข่น้ำค้างและน้ำมันพืชลงไปคนจนเข้ากันดี พักทิ้งไว้ มาทำน้ำเชื่อมกันนะคะ
นำน้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกมะลิผสมกับน้ำตาลลงในกระทะทองเหลือง เคี่ยวจนเดือดสักพัก ก็จะได้น้ำเชื่อมหอมกลิ่นมะลิ จากนั้นนำไข่ที่ผสมกันดีแล้วมาเทใส่กรวยที่เราเตรียมไว้ แล้วนำไปโรยในน้ำเชื่อมที่เดือด กะพอประมาณให้ได้เป็นแพ จากนั้นรอไข่สุกจึงใช้ไม้แหลมที่เตรียมไว้สอยขึ้นมาและพับให้เป็นแพตามที่ต้องการค่ะ


ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมทองหยอด

ขนมทองหยอด ถือเป็นขนมโบราณอีกประเภทหนึ่ง เป็น 1 ใน 9 ของขนมมงคล ชื่อทองหยอดถือเป็นชื่อมงคลเหมาะที่จะมอบให้กันในวันมงคลต่างๆ มักให้คู่กับทองหยิบ มีลักษณะเหมือนรูปหยดน้ำ ขนาดพอดีคำ มีสีเหลือง เพราะทำจากไข่


ส่วนผสมขนมทองหยอด มีดังนี้ค่ะ

ไข่เป็ด(เฉพาะไข่แดง) 12 ฟอง
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำเชื่อมสำหรับขนมทองหยอด

น้ำตาลทราย 8 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า(น้ำลอยดอกมะลิ) 4 ถ้วยตวง

วิธีทำขนมทองหยอด

นำไข่แดงมีตีจนเข้ากันจนขึ้นฟองฟู จากนั้นนำแป้งข้าวเจ้ามาร่อนประมาณ 2 ครั้ง มาผสมกับไข่ที่ตีแล้ว โดยค่อยๆใส่ลงไปแล้วใช้ช้อนคนๆเอา หากต้องการให้มีสีสดใส จะใส่สีผสมอาหารสีเหลือง หรือส้มลงไปก็ได้ค่ะ
นำน้ำเปล่าตั้งขึ้นไฟผสมน้ำตาลทรายลงไปพอละลายนำขึ้นมากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อม จากนั้น แบ่งน้ำเชื่อมออกเป็น 3 ส่วน  2 ส่วนเอาไว้หยอด อีก 1 ส่วนสำหรับแช่ที่หยอดเสร็จแล้ว นำน้ำเชื่อมที่มี2ส่วนขี้นตั้งไฟจนเดือด นำไข่ที่ผสมแล้วมาหยอดเป็นเม็ด โดยใช้ช้อนตักแล้วหยดลงไปในน้ำเชื่อมที่เดือดพอประมาณ เมื่อขนมสุกจะลอยขึ้นมา เราก็ตักลงไปแช่น้ำเชื่อมที่เราแบ่งไว้ 1 ส่วน พอเย็นแล้วตักขึ้นมาพักไว้ เท่านี้เราก็ได้ขนมทองหยอดอร่อยไว้ทานกันนะคะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

*ขนมไทยโบราณ ขนมทองหยิบ


ขนมทองหยิบ เป็นขนมไทยโบราณเป็นอีก 1 ใน 9 ของขนมมงคล เป็นขนมของประเทศโปรตุเกส นำเข้ามาเผยแพร่โยคุณท้าวทองกีบม้า ในสมัยอยุธยา
ขนมทองหยิบมีความหมายที่เป็นสิริมงคล จึงเหมาะแกการมอบให้เป็นของขวัญ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อมอบให้แก่ใครแล้ว คนที่ได้รับจะมีแต่ความร่ำรวย มั่งคั่ง หยิบจับสิ่งใดก็จะเป็นทอง สมกับชื่อ ทองหยิบ


ส่วนผสมขนมทองหยิบ มีดังนี้ค่ะ
ไข่เป็ด(เฉพาะไข่แดง) 10 ฟอง
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
ถ้วยตะไล 
ส่วนผสมน้ำเชื่อม

น้ำตาลทราย 8 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า(ลอยดอกมะลิ) 4 ถ้วยตวง


วิธีทำขนมทองหยิบ

นำไข่แดง มาตีให้เข้ากันจนฟู ถ้าอยากให้มีสีสรรสดใส จะใสีสีผสมอาหารสีเหลือง หรือสีส้มลงไปก็ได้ จากนั้นนำน้ำเปล่าที่เตรียมไว้ตั้งไฟ เทน้ำตาลทรายใส่ลงไป พอน้ำตาลละลาย นำมากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปตั้งไฟเคี่ยวไปสักพักจนเป็นน้ำเชื่อม เสร็จแล้วแบ่งน้ำเชื่อมเป็น 2 ส่วน ส่วนนึงนำตั้งไฟให้เดือดจนฟู แล้วยกขึ้นจากเตา ใช้ช้อนตักไข่ที่เตรียมไว้ หยอดให้เป็นวงกลมๆ เต็มกะทะ แล้วยกขึ้นตั้งไฟจนไข่สุก เมื่อไข่สุกตักขึ้นใส่ในน้ำเชื่อมส่วนที่2 ทิ้งไว้สักพัก จึงตักขึ้นมาหยิบเป็นดอก ใส่ในถ้วยตะไล เป็นอันเสร็จเรีบร้อย เราก้ได้ขนมทองหยิบอร่อยๆ สวยๆ ทานกันค่ะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ

*ขนมไทยโบราณ ขนมจ่ามงกุฏ

ขนมจ่ามงกุฏ เป็นขนมโบราณเป็น1ใน 9 ของขนมมงคล มีความหมายเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพียบพร้อมไปด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ ในสมัยก่อนนิยมทำกันมากในงานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานได้รับเลื่อนตำแห่ง ปัจจุบันหาทานได้ยากมาก อาจเนื่องจากวิธีการทำที่ยุ่งยาก แต่ที่เคยเห็นขนมจ่ามงกุฏในนปัจจุบันก็จะเห็นจะเป็นแถวๆร้านขายของฝากที่เพชรบุรีค่ะ


ก่อนอื่นต้องเตรียม
กระทะทองเหลือง
แป้งสาลี 1 ถ้วย
ไข่แดง 3 ฟอง
เม็ดแตงโมแกะแล้ว 1/2 ถ้วย
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย
น้ำดอกมะลิ 1 ถ้วย
ทองคำเปลวแท้ 2 แผ่น
เรามาดูวิธีการทำขนมจ่ามงกุฏกันนะคะ
 
1.น้ำกระทะทองเหลืองตั้งไฟจากนั้นนำน้ำลอยดอกมะลิ น้ำตาลทราย ลงมาเคี่ยวจนน้ำตาลละลาย จากนั้นนำมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อความสะอาด แล้วนำลงไปเคี่ยวต่อให้เดือดประมาณ 5 นาที ก็จะได้น้ำเชื่อมที่หอมดอกมะลิ จากนั้นนำใส่ภาชนะพักไว้
2.ล้างกระทะทองเหลืองให้สะอาดนำเมล็ดแตงโมไปจุ่มในน้ำเชื่อมแล้วนำไปคั่วในกะทะจนน้ำตาลเกาะติดเม็ดแตงโม ทิ้งไว้ให้หายร้อน แล้วนำไปใส่ในภาชนะที่มิดชิด อย่าให้อากาศเข้า เพราะจะทำให้เม็ดแตงโมไม่กรอบ
3.ระหว่างที่กวาดเม็ดแตงโมอยู่นั้น ต้องตะแคงกระทะและใช้ผ้าขาวบางเช็ดกระทะให้สะอาดอยู่เสมอ
4.นำแป้งสาลีผสมกับไข่ นำมานวดจนนิ่มมือ ถ้ายังแห้งๆเนื้อไม่เข้ากันให้เติมน้ำได้นิดหน่อย เมื่อเข้ากันดีแล้วนำแป้งมาคลึงเป็นแผ่นบางๆ กดให้กลมให้ได้ขนาดพอที่จะใส่ถ้วยตะไลได้ใช้ส้อมจิ้มให้ทั่ว แล้วจึงเอาไปอบให้พอสุก จากนั้นแกะออกจาถ้วยตะไลก็จะได้แป้งรองขนมรูปถ้วยตะไล
 5.เมื่อได้แป้งรองขนมแล้ว เราก็นำเม็ดแตงโมที่เตรียมไว้ มาแปะติดกับขอบๆด้านในของแป้งรองขนม โดยใช้น้ำเชื่อมเป็นตัวยึดให้เม็ดแตงโมกับแป้งรองขนมติดกัน
 6.จากนั้นเราก็มาปั้นขนมกัน โดยคลึงแป้งให้เป็นก้อนกลม นำปลายมีดกดรอยรอบๆไม่ต้องกดลึกมาก กดให้เป็นรอยสัก 6 ส่วน แล้วนำใส่แป้งรองขนมโดยหงายรอยที่เรากดไว้ด้านบน จากนั้นปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆเล็กๆติดด้านบนขนม ตรงกึ่งกลางที่เรากดเป็นรอย ขั้นตอนสุดท้ายคือนำแผ่นทองคำเปลวแบ่งมานิดหน่อยเพื่อมาติดไว้บนยอดสุด เพื่อเพิ่มความสวยงาม ดูมีค่า เหมาะสำหรับงานเป็นมงคล ค่ะ

ขนมไทยโบราณ เรียบเรียงบทความโดย ขนมไทยโบราณ